บทความเกี่ยวกับงานศพ

ความเป็นมาของพิธีกงเต็ก

    พิธีกงเต็ก ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของชาวจีนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ แต่พิธีกงเต็กนั้นจะมีการจัดขึ้นแบบไหนหรือแตกต่างกับพิธีงานศพไทยอย่างไร วันนี้ P-FLORIST จะมาให้คำตอบเกี่ยวกับพิธีคร่าวๆนะค่ะ

เบื้องต้นแห่งการมีพิธีกงเต็กในพระคัมภีร์สูตรมีกล่าวไว้ด้วยกันหลายเรื่อง ดังจะยกมาเป็นอุทาหรณ์เพียง 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้
       เรื่องที่หนึ่ง
               ในสมัยพระพุทธกาล มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถีได้กระทำมาตุฆาต (คือ ฆ่ามารดา) ในขณะโทษะจริตครอบงำ ครั้นรู้สึกตัวเกรงกลัวต่อบาปกรรมจึงได้ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อล้างบาป ในระหว่างบวชเป็นพระภิกษุอยู่นั้นได้หมั่นสวดมนต์ภาวนาขอลุแก่โทษตลอดเวลา ต่อมาไม่ช้าพระภิกษุองค์นั้นก็ถึงแก่มรณภาพลงกรรมชั่วที่ได้ประกอบไว้แต่หนหลังได้นำวิญญาณของเขาไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรก ภายหลังยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของพระภิกษุที่มรณภาพไปอยู่ในนรก เมื่อได้ฌาณสมาบัติแล้วเล็งฌาณไปเห็นอาจารย์ของตนกำลังทนทุกข์เวทนาอยู่ในอเวจีชั้นลึก ก็เกิดความสงสารจึงประกอบพิธีกงเต็กขึ้น อัญเชิญวิญญาณของอาจารย์มายังพิธีขอขมากรรมต่อพระศรีรัตนตรัยกับทำบุญถวายแด่พระพุทธ, พระสงฆ์, ทำทานแก่มนุษย์ไร้ที่พึ่ง, แก่สัตว์โลกใหญ่น้อยต่างๆ อุทิศไทยทานแก่บรรดาภูต, ปีศาจ และเปรตในนรก แล้วแผ่บุญกุศลให้แก่วิญญาณอาจารย์ การบำเพ็ญกุศลใน พิธีกงเต็ก นี้ ให้บังเกิดผลแก่วิญญาณของอาจารย์ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ในอเวจีไปสู่สุคติ
       เรื่องที่สอง
               ในสมัยราชวงศ์เหลียง อันมี “ พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ” ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1450 พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามาก ทรงปฏิสังขรณ์และทำนุบำรุงวัดวาอารามทั่วแผ่นดิน ทรงเจริญพระพุทธมนต์ทั้งเช้าและค่ำเป็นกิจวัตร ส่วนพระนาง “ ฮูฮองเฮา ” ทรงเกลียดชังพระพุทธศาสนาถึงกับครั้งหนึ่งได้นำเอาพระคัมภีร์ของพระสวามีไปเผาทิ้ง ครั้นพระนางสิ้นพระชนม์ลง กรรมชั่วนั้นให้ผลแก่วิญญาณพระนางไปเป็นงูอยู่ในอบายภูมิ วันหนึ่งงูตัวนี้ได้มาปรากฏตัวในพระสุบิน (เข้าฝัน) ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ พรรณนาเล่าถึงความชั่วที่ได้กระทำไปเมื่อยังมีชีวิตอยู่ บัดนี้ได้มารับการทรมานอยู่ในนรกและรู้สำนึกผิดแล้ว จึงทูลขอพระกรุณาต่อพระสวามีช่วยพระนางให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ครั้งนี้ด้วย พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้จึงนิมนต์ท่านพระอาจารย์จิกง ผู้เป็นพระภิกษุอาวุโสและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาประกอบพิธีกงเต็ก อุทิศบุญกุศลให้แก่พระนางไป ต่อมาไม่ช้าพระนางได้มาเข้าฝันพระสวามีและกราบทูลว่าเธอได้หลุดพ้นจากการเป็นงูไปสู่สุคติแล้ว ในพระสูตรมีอรรถอธิบายดังนี้ ฉะนั้น การกระทำพิธีกงเต็กบำเพ็ญกุศลแก่วิญญาณผู้ที่ล่วงลับไป จึงได้ปฏิบัติกันต่อๆมาทั่วประเทศจีนตราบเท่าทุกวันนี้

  1. ติดต่อ ซินแส หรืออาจารย์ (กรณีที่ต้องการให้มีการดูวันดี)หรือติดต่อวัดในสังกัด คณะสงฆ์จีนนิกาย
       2. ติดต่อเขตที่ผู้ตายอาศัยอยู่เพื่อออกใบมรณะบัตร
       3. ติดต่อร้านโลงศพ เกี่ยวกับเรื่องโลงศพ พิธีบรรจุศพ การเคลื่อนศพ ฯลฯ
       4. นิมนต์พระ เพื่อสวดใบพิธีบรรจุศพ (นิมนต์พระจีน 1-3 รูปทำพิธีบรรจุศพลงโลงและตอกโลง พร้อมจูงศพไปวัด)
       5. ติดต่อวัดเพื่อจัดสวดพระอภิธรรม
       6. ติดต่อสมาคมจีนเพื่อให้ทางสมาคมช่วยในการดำเนินพิธีการต่างๆ
       7. ติดต่อคนรับจัดของเซ่นไหว้ (สามารถจัดการเองได้)
       8. ติดต่อพระเรื่องฝังศพ เพื่อสวดมนต์ในระหว่างพิธีฝังศพ (งานฝังนิมนต์พระจีน 1-3 รูปจูงศพ)
       9. ติดต่อสุสานที่ต้องการจะนำศพไปฝังหรือติดต่อทางวัดในกรณีเผา
       10. ติดต่อของว่างหรืออาหารในระหว่างสวดพระอภิธรรมศพ 7 วัน

       ( หมายเหตุ ) ในการเตรียมงานกงเต็กหากท่านไม่มีความรู้ให้ติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้ที่นี่

       การเตรียมของให้สำหรับผู้ตาย
       เมื่อญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตลง สิ่งที่ลูกหลานจะต้องเตรียมมีดังต่อไปนี้
       1. ผ้าคลุมศพ หรือ ทอลอนีป๋วย (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด)
       2. ใบเบิกทาง หรือ อวงแซจิ้ (หาซื้อได้ที่วัดจีนทุกวัด นิยมซื้อเป็นชุด คือ 1 ลัง ใช้ทั้งงาน)
       3. ภาพของผู้ตายใส่กรอบสำหรับตั้งหน้าโลงศพ
       4. ของใช้ส่วนตัว เช่น
               4.1 เสื้อผ้าเย็บกระเป๋าทุกใบแบบไม่มีปม (ให้เลือกชุดที่ผู้ตายชอบ)
               4.2 รองเท้า
               4.3 ไม้เท้า (ถ้ามี)
               4.4 แว่นตา (ถ้ามี)
               4.5 ฟันปลอม (ถ้ามี)
       5. ดอกบัว 3 ดอก
       6. ยอดทับทิม
       7. เอกสารประจำตัวผู้ตาย เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อออกในมรณะบัตร
       8.. เตี๊ยบ (มีเฉพาะของผู้หญิง เป็นเสมือนใบประวัติของผู้ตาย ส่วนใหญ่จะประมูลได้มาจากพระพุทธบาท สระบุรี)

       เครื่องแต่งกายของลูกหลานในงาน
        ลูกชาย หมายถึง ลูกชายของผู้ตายทั้งหมดและรวมหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต
        • หมายเหตุ หลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโต ถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้ตาย
        • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
        • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
               1. เสื้อ
               2. หมวกทรงสูง
               3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้
               4. ไม้ไผ่ (เสียบไว้ที่เอว)


        • หมายเหตุ ไม้ไผ่เปรียบเสมือนคบเพลิง เพื่อส่องทาง และ ป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ

       ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้
        • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
        • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
               1. เสื้อ
               2. กระโปรง
               3. หมวกสามเหลี่ยม
               4. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ (กรณีของคนที่ตั้งท้อง จะไม่ใช้เชือกคาดเอวคาดไว้แต่ให้ผูกถุงเล็กๆไว้ที่ด้านขวาของ ชุดกระสอบบริเวณเอว)

       ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน
        • ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน
        • ชุดกระสอบ ประกอบด้วย
               1. เสื้อ
               2. หมวกสามเหลี่ยม
               3. เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าเล็กๆ ห้อย

       ลูกเขย
        • ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว
        • ผ้าผืนยาวสีขาวสำหรับพันรอบ เอว และเหน็บชายผ้าทั้งสองข้างไว้ข้างเอว (คล้ายๆ ชุดในหนังจีน)
        • หมวกเหมือนลูกชายแต่เป็นสีขาว

       หลาน
                          • กรณีที่เป็นหลานใน (ลูกของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีขาว


                          • กรณีที่เป็นหลานนอก (ลูกของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีน้ำเงิน


                          • กรณีที่เป็นเหลนใน (หลานของลูกชาย) หมวกจะเป็นสีฟ้า
                          • กรณีที่เป็นเหลนนอก (หลานของลูกสาว) หมวกจะเป็นสีชมพู

การประกอบพิธีกงเต็กนั้น จะต้องจัดสถานที่ให้เป็นปรัมพิธี หรือ ห้องพิธี สมมุติเป็นมณเฑียรเสมาพระพุทธจักร มีโต๊ะประดิษฐานพระรูปของพระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธเจ้า, พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า, พระมัญชุศรีโพธิสัตว์, พระสมันตภัทรโพธิสัตว์, พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์, พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ประดับด้วย เครื่องสักการบูชาพร้อมมูล มีพระภิกษุเข้าประจำพิธี

        แบ่งได้ สามแบบ คือ พิธีของคนกวางตุ้ง และ พิธีคนแต้จิ๋ว พิธีคนแคะ

       1. แบบพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งถ้าต่างคณะสงฆ์ก็มีรายละเอียดต่างกันชัดเจน อีกทั้งพระสงฆ์จีน นั้นก็รูปแบบแตกต่างกันขอยกตัวอย่าง ของกงเต็กแบบพระจีน
          1.1 กงเต็กแบบแต้จิ๋ว
            1. แบบคนตายผู้ชาย จะไม่มีพิธีกินน้ำแดง แต่จะสวดสาธยายพระสูตรต่าง ๆ แทน
            2. แบบคนตายผู้หญิง จะมีพิธีน้ำแดง พิธีกินน้ำแดง เป็นการสอนเรื่องความกตัญญู เลือด หรือน้ำแดง ที่ลูกหลานดื่ม นั้นคือน้ำนมจากแม่
          1.2 กงเต็กแบบคนกวางตุ้ง กวางตุ้งจะมีพิธีแตกต่างกัน สังเกตง่าย ๆ คือผ้าโพกหัวจะเป็นสีขาว ไม่ใส่เสื้อกระสอบ และจะต้องมีพิธีโยคะตันตระ พิธีเปิดประตูนรก
       2. แบบคนธรรมดาประกอบพิธี เป็นผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว
       3. แบบกงเต๊กจีนแคะ เป็นนางหรือ “ชี” ทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัวและพระจีนแคะ

ทำไมการจัดงานศพถึงแตกต่างกัน?

พิธีกงเต็ก

ผู้ที่จะรับกงเต็กได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตหลังจากอายุ 70 ขึ้นไป

เสียชีวิตด้วยโรคภัย หรือตามธรรมชาติ

แต่งงานมีบุตรหลานเยอะ

พิธีแบบไทย

อายุต่ำกว่า 70 ปี จะไม่จัดพิธีกงเต็ก เพราะถือว่าเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร

เสียชีวิตไม่ปกติ เช่น อุบัติเหตุต่างๆ

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นิยมเผามากกว่าฝังที่ฮวงซุ้ย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก facebook : Nadao Series (เลือดข้นคนจาง)